1. ลำดับเหตุการณ์ชีวิตของนักบุญเปาโล

 

 

 

   

 

เปาโลเกิดที่เมืองทาร์ซัส ในแคว้นซีลีเซีย ประมาณปี ค.ศ. 10
ในทศวรรษแรกของคริสตกาล จากครอบครัวชาวยิวเผ่าเบนยามิน มีสัญชาติโรมัน
เมื่อเป็นหนุ่ม เปาโลศึกษาพระคัมภีร์อย่างละเอียดตามแบบของฟาริสีผู้เชี่ยวชาญ
โดยเน้นธรรมบัญญัติของโมเสสเป็นพื้นฐาน หนังสือกิจการอัครสาวกกล่าวว่า
เปาโลศึกษาเล่าเรียนที่กรุงเยรูซาเล็มกับกามาลิเอล ซึ่งเป็นอาจารย์ที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งในยุคนั้น
หนังสือกิจการอัครวสาวกยังบอกเราอีกว่าเปาโลเบียดเบียนพระศาสนจักรยุคเริ่มต้น
มีส่วนรู้เห็นในการตายเป็นมรณสักขีของสเทเฟน เบียดเบียนคริสตชนชาวยิวที่พูดภาษากรีก
ซึ่งแยกตัวจากลัทธิยิวที่เน้นพระวิหารกรุงเยรูซาเล็มเป็นศูนย์กลาง

แต่ขณะเดินทางไปยังเมืองดามัสกัส ประมาณปี ค.ศ. 34 พระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพปรากฏพระองค์ให้เปาโลเห็น
และเปลี่ยนแปลงชีวิตของท่าน พระผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพทรงทำให้เปาโลเข้าใจความจริงของความเชื่อคริสตชน และทรงแจ้งว่าพระองค์ทรงเลือกสรรเขาให้เป็นอัครสาวกของคนต่างชาติ นับตั้งแต่นั้น เปาโลอุทิศชีวิตเพื่อรับใช้พระคริสตเจ้าผู้ทรงเลือกท่านให้ติดตามพระองค์
หลังจากที่ใช้เวลาระยะหนึ่งใน อะราเบีย เปาโลกลับมายังเมืองดามัสกัส และเริ่มเทศน์สอนที่นั่น

ต่อมาในราวปี ค.ศ. 39 ท่านเดินทางผ่านกรุงเยรูซาเล็มเป็นเวลาสั้นๆ แล้วจึงออกเดินทางไปยังซีเรียและซีลิเซีย จนกระทั่งบารนาบัสไปเรียกตัวมาที่เมือง อันทิโอก และทั้งสองคนเทศน์สอนที่นั่น

การเดินทางเพื่องานธรรมทูตครั้งแรก (ค.ศ. 45-49) เปาโลไปที่เกาะไซปรัส
แคว้นปัมฟีเลีย ปิสิเดียและลิคาโอเนีย ท่านเริ่มใช้ชื่อกรีก “เปาโล” แทนชื่อยิว “เซาโล”
ในตอนแรกเปาโลเป็นเพียงผู้ช่วยบารนาบัส แต่ในการเดินทางเพื่องานธรรมทูต
เปาโลน่าจะมีบทบาทมากจนกลายเป็นผู้นำบารนาบัส

ต่อมาในปี ค.ศ. 49 คือสิบสี่ปีหลังจากการกลับใจ เปาโลขึ้นไปกรุงเยรูซาเล็ม
ท่านกับบารนาบัสได้รับการยอมรับว่าเป็นอัครสาวกของคนต่างชาติ
จากผู้นำพระศาสนจักรที่นั่น ซึ่งเป็น “อัครสาวกของผู้ที่เข้าสุหนัต”
เราจะกล่าวถึงวันเวลาของการเดินทางเพื่องานธรรมทูตครั้งที่สอง (ค.ศ. 50-52)
และครั้งที่สาม (ค.ศ. 53-58) ในภายหลังเมื่อจะพูดถึงจดหมายที่ท่านเขียนขึ้นในระหว่างการเดินทาง
เปาโลถูกจับกุมที่เยรูซาเล็มในปี ค.ศ. 58 และถูกนำไปจำคุกที่เมืองซีซารียาในแคว้นปาเลสไตน์จนถึงปี ค.ศ. 60

ในฤดูใบไม้ร่วงของปี ค.ศ. 60 นั้น เฟสตัสซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการควบคุม
เปาโลส่งไปกรุงโรม เปาโลอยู่ที่กรุงโรมเป็นเวลาสองปี
ข้อมูลแน่นอนเกี่ยวกับชีวิตของเปาโลจบลงที่นี่
ธรรมประเพณีโบราณซึ่งใช้ข้อมูลจากจดหมายเกี่ยวกับการอภิบาล
เล่าว่าเปาโลถูกขังอยู่สองปี หลังจากนั้นคดีของท่านถูกยกฟ้องเพราะขาดพยานหลักฐาน
เปาโลจึงเดินทางกลับไปทางตะวันออกอีกครั้งหนึ่ง
ทั้งๆ ที่เคยวางแผนที่จะเดินทางไปเยือนสเปน (เราจะกล่าวในภายหลังว่า จดหมายเกี่ยวกับการอภิบาลทั้งสามฉบับนี้มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์มากน้อยเพียงใด)
ธรรมประเพณียังเล่าอีกว่า เปาโลถูกจองจำที่กรุงโรมอีกครั้งหนึ่ง
และถูกประหารเป็นมรณสักขีในปี ค.ศ. 67

 

 2. อุปนิสัยของเปาโล

 

 

 

ผู้อ่านเข้าใจอุปนิสัยของเปาโลและลำดับเหตุการณ์ในชีวิตของท่านอย่างชัดเจน
จากจดหมายที่ท่านเขียนและจากหนังสือกิจการอัครสาวก

เปาโลเป็นบุคคลที่อุทิศตนอย่างมาก มุ่งมั่นจะบรรลุถึงอุดมการณ์ไม่ว่าจะลำบากเพียงใด
สิ่งเดียวที่สำคัญที่สุดสำหรับท่านคือพระเจ้า และในฐานะผู้รับใช้ของพระเจ้า
เปาโลปฏิเสธการประนีประนอมทุกชนิด เพราะความเด็ดเดี่ยวท่านจึงเบียดเบียน
ผู้ที่ท่านถือว่าเป็นศัตรูของพระเจ้า และต่อมาได้เทศน์ประกาศพระคริสตเจ้า
เป็นพระผู้ไถ่สากลโลกแต่พระองค์เดียว
ท่านรับใช้พระไถ่พระองค์นี้อย่างสุดจิตสุดใจด้วยความเสียสละตลอดชีวิต
หลังจากกลับใจท่านรู้ดีว่าตนได้รับมอบหมายให้ทำงานใด และไม่ยอมให้สิ่งใดมาขัดขวางการทำงานนั้น
ไม่ว่าจะเป็นความยากลำบาก ความเหน็ดเหนื่อย ความทุกข์ทรมาน ความยากจน หรือการเสี่ยงตาย ความยากลำบากเหล่านี้มิได้ทำให้ความรักของท่านต่อพระเจ้า
หรือต่อพระคริสตเจ้าลดน้อยลง ตรงกันข้ามกลับทำให้ท่านยินดีรับความยากลำบากดังกล่าว เพราะช่วยท่านให้คล้ายกับพระอาจารย์ผู้ทรงรับทรมานและถูกตรึงบนไม้กางเขน เปาโลรู้ดีว่ากระแสเรียกที่ท่านได้รับนั้นไม่เหมือนของผู้ใด
ทำให้ท่านมีความใฝ่ฝันอย่างมาก แต่ไม่ทำให้ท่านหยิ่งยโส
เปาโลภูมิใจในความรับผิดชอบดูแลกลุ่มคริสตชนหลายกลุ่ม
แต่ยังมีความถ่อมตนโดยจริงใจ ท่านอ้างไว้ว่า ท่านทำงานธรรมทูตมากกว่าคนอื่น และยังกล้าเสนอตนเป็นแบบฉบับสำหรับคริสตชนที่ท่านสอนให้กลับใจ
ท่านไม่เคยลืมว่า ตนเป็นอัครสาวกที่ไม่สมควรที่สุด
เพราะเคยเบียดเบียนพระศาสนจักรของพระคริสตเจ้า
กิจการใหญ่ทั้งหลายที่ท่านทำสำเร็จ ท่านเห็นว่าเป็นพระหรรษทานของพระเจ้าที่ทำงานในตัวท่าน

เปาโลเป็นคนมีอารมณ์อ่อนไหวแสดงความอ่อนไหวต่อผู้ที่ท่านสอนให้กลับใจ
มีความจริงใจต่อคริสตชนชาวฟีลิปปี มีความรักล้ำลึกสำหรับคริสตชนชาวเอเฟซัส แสดงความเกรี้ยวกราดต่อคริสตชนชาวกาลาเทียซึ่งกำลังจะละทิ้งความเชื่อ และความรู้สึกผิดหวังเมื่อรู้ว่าคริสตชนชาวโครินธ์เริ่มทะนงตนถือดีและมีความโลเล บางครั้งเปาโลพูดประชดคนที่ท่านเห็นว่ามีความเชื่อไม่ลึกซึ้ง บางครั้งพูดตรงไปตรงมา
แต่ท่านทำเช่นนี้ก็เพื่อความดีของคนเหล่านั้น และหลังจากแสดงอารมณ์เหล่านี้แล้ว
ท่านจะแสดงความอ่อนโยนใหม่อีกครั้งหนึ่ง
มีความรู้สึกเหมือนบิดาหรือเหมือนมารดาก็ว่าได้ ปรารถนาอย่างมากที่จะแสดงความรักเหมือนแต่ก่อน

เปาโลจะแสดงความโกรธอย่างดุดันต่อู้ที่ชักชวนคริสตชนของท่านให้หลงผิด
ทั้งชาวยิวเคร่งศาสนา ซึ่งขัดขวางคริสตชนที่พูดภาษากรีกอย่างรุนแรงและต่อต้านเปาโล
ในทุกที่ที่ท่านไป และคริสตชน
ชาวยิวที่ยังนิยมลัทธิยิวต้องการให้ผู้ติดตามพระคริสตเจ้า
ทุกคนถือตามธรรมบัญญัติของโมเสสอีกด้วย เปาโลไม่เคยเห็นแก่หน้าคนพวกนี้เลย
แม้ว่าเปาโลไม่คิดว่าตนเป็นใหญ่ แต่ท่านรู้สึกว่าตนเป็นอาวุธซึ่งไม่มีผู้ใดต้านทานได้ที่
         

พระเจ้าทรงใช้ปราบผู้ต่อต้านที่ทะเยอทะยาน หยิ่งยโสและมีจิตใจรักโลก
ความจริงใจที่ไม่เห็นแก่ตัวของเปาโลเป็นอาวุธของพระเจ้า ผู้รู้เสนอแนวคิดว่าผู้คนที่เปาโลประณามอย่างรุนแรงนั้นคือบรรดาอัครสาวกอาวุโส
ที่กรุงเยรูซาเล็มเอง แต่ กท
2 บอกเราว่า เปาโลเคารพอำนาจของบรรดาอัครสาวกซึ่งปกครองดูแล
กลุ่มคริสตชนชาวยิวในบริเวณกรุงเยรูซาเล็มอยู่เสมอ
ขณะที่ท่านต่อต้านอิทธิพลของศิษย์บางคนของบรรดาอัครสาวกเหล่านี้
ในกลุ่มคริสตชนที่มาจากคนต่างศาสนาซึ่งท่านก่อตั้งขึ้น เปาโลอ้างเพียงแต่ว่าท่านเป็นพยานถึงพระคริสตเจ้ามากเท่ากับที่คนเหล่านั้นเป็น
แม้เมื่อขัดแย้งกับเปโตรแล้ว ท่าทีของท่านก็ยังมีลักษณะปรองดอง
ท่านรวบรวมเงินบริจาคเพื่อคริสตชนยากจนในกรุงเยรูซาเล็ม เพราะต้องการพิสูจน์ว่า
คริสตชนต่างชาติก็เป็นหนึ่งเดียวกันกับ
   คริสตชนของพระศาสนจักรแม่อย่างแท้จริง
แม้ว่าเงินบริจาคนั้นจะไม่ได้รับการตอบรับก็ตาม

 

3. เปาโลผู้เทศน์สอน

 

 

 

สาระสำคัญของเรื่องที่เปาโลเทศน์สอนคือ “ข่าวดีซึ่งบรรดาอัครสาวกประกาศสอน”
(apostolic kerygma) คือการประกาศว่าพระคริสตเจ้า
ถูกตรึงกางเขนและกลับคืนพระชนมชีพ
จากบรรดาผู้ตายตามที่พระคัมภีร์กล่าวไว้ คำสอนที่เปาโลเรียกว่าเป็นข่าวดี “ของตน”
ก็คือความเชื่อเดียวกันกับของบรรดาอัครสาวกอื่นๆ ต่างกันเพียงในเรื่องที่เปาโล
ไม่มีข้อจำกัดในการรับคนต่างชาติเข้าเป็นคริสตชน
งานธรรมทูตครั้งแรกของเปาโลตามที่เล่าไว้ใน กจ 11 นั้น
เริ่มขึ้นที่เมืองอันทิโอกในกลุ่มคริสตชนต่างชาติที่คริสตชน
ชาวยิวพูดภาษากรีกเทศน์สอนให้กลับใจ“คริสตชนชาวยิวพูดภาษากรีก เหล่านี้กระจายไป
หลังจากความวุ่นวายที่เกิดขึ้นเมื่อสเทเฟนถูกประหารชีวิต”
เปาโลยอมรับและบางครั้งยังอ้างถึงธรรมประเพณีของบรรดาอัครสาวก
ซึ่งท่านรู้ดีว่ามีอยู่ก่อนแล้ว เปาโลคงไม่เคยพบกับพระเยซูเจ้าในเวลาที่พระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ในโลก แต่ท่านก็คุ้นเคยกับคำสั่งสอนของพระองค์ และกล่าวอ้างอย่างมั่นใจว่าได้เห็นพระคริสตเจ้าผู้กลับคืนพระชนมชีพ
ไม่เพียงแต่เมื่อเดินทางไปเมืองดามัสกัสเท่านั้น
แต่เห็นพระองค์หลายครั้งในโอกาสต่อๆ มาอีกด้วย
ท่านยังได้รับการเปิดเผยโดยตรง เคยเข้าฌาน แต่ในเวลาเดียวกันท่านยังเรียกคำสอนที่ได้รับจากธรรมประเพณี
ของบรรดาอัครสาวกว่า เป็นการสื่อโดยตรงจากองค์พระผู้เป็นเจ้าด้วย

 

ประสบการณ์เชิงฌานเหล่านี้มีบางคนคิดว่าเกิดขึ้น
จากอารมณ์อ่อนไหวและไม่ปกติของเปาโล แต่ไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น เราไม่อาจชี้ชัดว่าโรคที่หน่วงเหนี่ยวตัวท่านไว้ในแคว้นกาลาเทียนั้นเป็นโรคใด
สำนวนที่ว่า
หนามที่แทงข้างตัวข้าพเจ้าอาจจะหมายถึงการเป็นศัตรูคู่อริ
อย่างต่อเนื่องของชาวยิวซึ่งเป็นพี่น้องของท่าน
ตามธรรมชาติ
เปาโลไม่น่าจะมีจินตนาการมากนัก ตามที่เห็นได้จากการใช้ภาพเปรียบเทียบน้อยมาก
และภาพที่ใช้ก็เป็นภาพธรรมดา เช่นการแข่งขันกรีฑาและทะเล
เปาโลใช้ภาพพจน์เรื่องกสิกรรมและการก่อสร้าง ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาจนมักจะนำเอามาปนกัน แต่อัจฉริยภาพของท่านอยู่ในการคิดตามเหตุผลมากกว่าในจินตนาการ
แม้แต่เมื่อใช้อารมณ์เปาโลก็ยังคิดตามเหตุผลอย่างเคร่งครัด
ในการอธิบายคำสอนและรู้จักปรับคำสอนให้เข้ากับความต้องการของผู้ฟัง ความจำเป็นที่จะต้องปรับคำสอนให้เข้ากับโอกาสนี้ทำให้เปาโลนำ

ข่าวดีที่บรรดาอัครสาวกประกาศสอน มาวิเคราะห์อยู่ตลอดเวลา
จึงเกิดเป็นเทววิทยาลึกซึ้งที่เราได้รับมาจนทุกวันนี้ เปาโลใช้เหตุผลอ้าง
ตามวิธีการของอาจารย์ชาวยิวดังที่ท่านได้รับการฝึกฝน
ในปัจจุบันเราอาจไม่คุ้นเคยกับการใช้
เหตุผลลักษณะนี้
อัจฉริยภาพของท่านไม่ถูกจำกัดอยู่ในธรรมประเพณีที่ท่านได้รับถ่ายทอดมา
วิธีคิดตามแบบโบราณเหล่านี้มิได้ทำให้คำสอนของท่านมีความลึกซึ้งน้อยลง

 

เปาโลเป็นชาวยิวได้รับการศึกษาพื้นฐานจากวัฒนธรรมกรีก
ซึ่งคงจะได้รับในวัยเด็กที่เมืองทาร์ซัส อิทธิพลนี้เห็นได้ชัดเจนทั้งในวิธีการคิด
และในวิธีการเขียนของท่านอีกด้วย บางครั้งท่านยกข้อความจากนักเขียนกรีก และคุ้นเคยกับปรัชญาลัทธิสโตอิกแบบชาวบ้าน
ซึ่งท่านขอยืมความคิดบางอย่างมาใช้ เช่นเรื่องวิญญาณที่แยกจากร่างกาย
และถูกกำหนดไว้สำหรับอีกโลกหนึ่งใน
2 คร 5:6-8

หรือเรื่องบูรณภาพของจักรวาลใน คส และสูตรตายตัวต่างๆ
เปาโลขอยืมวิธีการถามตอบสั้นๆ การรวมคำเข้าด้วยกันจากพวกไซนิกและสโตอิก
ตลอดจนการใช้วลียาวๆ มารวมเรียงกันเป็นคลื่นลูกแล้วลูกเล่า
ก็เคยมีใช้อยู่แล้วในวรรณกรรมทางศาสนาของกรีก
ภาษากรีกเป็นภาษาที่สองของเปาโล ท่านใช้ได้คล่องแคล่ว
แม้จะมีสำนวนเซมิติกแทรกเข้ามาบ้างบางครั้ง
ภาษากรีกของเปาโลเป็นภาษากรีกสามัญที่ใช้กันทั่วไปในสมัยนั้น
แต่อยู่ในระดับของผู้ไม่ได้รับการศึกษา
เปาโลไม่เคยคิดพยายามที่จะใช้ภาษาสละสลวยแบบอัตติก และท่านจงใจไม่ใช้วาทศิลป์เพื่อผู้ฟังจะได้มีความเชื่อไม่ใช่เพราะรูปแบบของภาษาที่ใช้ แต่เพราะเนื้อหาของข่าวดีที่ต้องเชื่อและเพราะเครื่องหมาย
ซึ่งพระจิตเจ้าทรงสัญญาจะประทานให้เพื่อรับรองข่าวดีนั้น
การไม่สนใจในความสละสลวยของภาษาเป็นเหตุผลหนึ่ง
ที่บางครั้งเปาโลเขียนผิดไวยากรณ์ หรือเขียนไม่จบประโยค เหตุผลอีกประการหนึ่งคือ บางครั้งท่านคิดเร็วและใช้อารมณ์มากเกินไป เหตุผลประการที่สามคือ ตามปกติ เปาโลมักให้คนอื่นเป็นคนเขียนตามคำบอก ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติของสมัยนั้น
จะมีข้อยกเว้นก็น้อยมาก ท่านเพียงแต่เขียนคำทักทาย
ลงท้ายแทนการลงนามกำกับเท่านั้น มีข้อความบางตอนในจดหมายของเปาโลที่เขียนขึ้น
โดยคิดและตริตรองเป็นเวลานาน แต่ส่วนใหญ่แล้ว จดหมายของท่านชวนให้คิดว่าเขียนขึ้นโดยฉับพลัน
และไม่มีการทบทวนแก้ไขทั้งๆ ที่มีข้อบกพร่อง
หรืออาจเป็นเพราะความบกพร่องทางวรรณกรรม
ที่ทำให้ประโยคของเปาโลมีชีวิตชีวาและมีความหมายหนักแน่น จดหมายของเปาโลอ่านเข้าใจยาก ความคิดลึกซึ้งที่รีบเขียนก็เข้าใจยากเสมอ แต่ข้อความบางตอนของเปาโลสื่อความหมายทางศาสนา
และวรรณกรรมได้อย่างดีน่าพิศวง